top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค. 2566 “หลวงพ่อยงยุทธ” เกจิวัดเขาไม้แดง ชลบุรี

คอลัมน์"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค. 2566

“หลวงพ่อยงยุทธ” เกจิวัดเขาไม้แดง ชลบุรี

ศิษย์สายสำนักตักสิลาวัดประดู่ทรงธรรม

อาจารย์ถ่ายทอดวิชาเจิมมือ"หลวงพ่อสง่า"

“พระครูธรรมกิจโกวิท" หรือ "หลวงพ่อยงยุทธ ธัมมโกสโล" อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองชลบุรี มีเมตตาธรรมสูง มักน้อยถือสันโดษ มีพลังจิตที่เข้มขลังอาคมที่แก่กล้า นามของท่านจึงขจรขจายไปไกลทั่วภาคตะวันออก ที่สำคัญ ท่านเป็นหนึ่งในสุดยอดพระเกจิอาจารย์ สายวัดประดู่ทรงธรรม

ท่านมีนามเดิมว่า “จำปี แก้วรำไพ” เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2470 ในเรือนแพจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เขตอำเภอไชโย จ.อ่างทอง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเชียงและนางถุงเงิน แก้วรำไพ ครอบครัวมีพี่น้อง 5 คน

วัยเด็กพ่อแม่ได้ไปฝากกับญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งคือ พระครูโกวิทนวการ หรือ “หลวงปู่โห้” เจ้าอาวาสวัดวงษ์ภาศนาราม เพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียน ก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดมะขาม กระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนปัทมโรจน์ โรงเรียนประจำจังหวัดอ่างทอง จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

​ต่อมาท่านได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ยงยุทธ" หลังจากนั้นได้เดินทางมาศึกษาต่อที่โรงเรียนวุฒิศึกษา แถวฝั่งธนบุรี จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ก่อนที่จะทำงานที่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย

เมื่ออายุ 23 ปี ได้ลางานพักผ่อน 15 วัน และท่านตัดสินใจบวช ณ วัดบ้านป่า อ.ไชโย จ.อ่างทอง โดยมีพระครูโกวิทนวการหรือหลวงปู่โห้ วัดวงษ์ภาศนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิบูลสังฆกิจ เจ้าคณะอำเภอไชโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอธิการตี๋ เจ้าอาวาสวัดประสาท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธัมมโกสโล”

ครั้นใกล้ครบกำหนดลางาน 15 วัน ปรากฏว่า ท่านไม่ยอมลาสิกขาบท ตัดสินใจบวชต่อเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย อีกทั้งมุ่งมั่นฝึกฝนกัมมัฏฐานจนเกิดความสุขสงบทางใจ โดยมีโอกาสศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงปู่โห้ ,หลวงปู่ลิ้ม วัดไทรใต้ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นตา ท่านเก่งด้านวิปัสสนา

ปี พ.ศ.2502 ท่านได้ออกเดินธุดงค์ผ่าน มาจ.ชลบุรี และพบวัดเขาไม้แดงซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม สำนักสงฆ์แห่งนี้สร้างโดยหลวงพ่อเขียน วัดพิชัยสงคราม พระเกจิดังองค์หนึ่งของสมุทรปราการ ท่านพยายามจะสร้างให้เป็นวัดแต่ไม่สำเร็จ ตอนที่หลวงพ่อยงยุทธมาปักกลดในบริเวณนี้ ท่านได้นั่งสมาธิแล้วพบนิมิตขอร้องให้ท่านอยู่พัฒนาพื้นที่แถวนั้นให้เป็นวัด ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เริ่มจากพัฒนาสร้างศาสนสถานชั่วคราว เป็นกุฏิที่พักสงฆ์ หรือศาลาโรงธรรมอื่นๆ ทำด้วยไม้และมุงด้วยจากสามารถสร้างวัดให้มีความเจริญได้ในเวลาไม่นาน

​เรื่องราวที่พระอาจารย์ยงยุทธสร้างวัดได้ทราบไปถึง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ท่านให้ความสนับสนุนส่งเสริม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งไปตรวจสอบสถานที่และทำรายงานมาเสนอทางราชการ แต่ผ่านไปเพียง 3 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้แผนพัฒนาวัดเขาไม้แดงหยุดชะงักไป

หลวงพ่อยงยุทธ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูธรรมกิจโกวิท” ด้วยความที่หลวงพ่อยงยุทธ เป็นผู้ที่มีชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อยงยุทธจึงได้สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายรุ่น ทั้งเหรียญพระ รูปหล่อ ฯลฯ ได้รับความเลื่อมใสจากบรรดาทหารที่นิยมหาพระเครื่องของหลวงพ่อยงยุทธไปคล้องคอติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล

เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา ท่านก็มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ในวันที่ 1 พ.ย.2545 ด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบและโรคหัวใจ หลวงพ่อยงยุทธได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2545 เวลา 05.45 น. สิริอายุ 75 ปี 2 เดือน พรรษา 52

ทางวัดได้เก็บสังขารหลวงพ่อไว้ที่กุฎิเป็นเวลา 9 ปี หลังจากนั้น ในวันที่ 17 พ.ย. 2554 ได้ประกอบพิธีบรรจุสังขารท่านในรูปหล่อทองเหลืองยืนเดินธุดงค์ ขนาดสูง 3.36 เมตร ตามความประสงค์ของท่านที่ได้สั่งการไว้ก่อนมรณภาพให้บรรจุสังขารไว้ในรูปหล่อทองเหลืองยืนเดินธุดงค์ที่จัดสร้างไว้เมื่อครั้งทำบุญอายุครบอายุ 60 ปี ตั้งแต่ปี 2530

​พระอาจารย์ด้านกรรมฐานของหลวงพ่อยงยุทธ (โดยย่อ) 1. หลวงปู่ลิ้ม วัดไทรใต้ ใกล้เทศบาล จ.นครสวรรค์ มีประวัติ เล่าว่า หลวงปู่ลิ้มนั่งกรรมฐาน รถไฟไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ 2. ครูจาบ สุวรรณ เป็นฆราวาสเก่งด้านกสิณมาก มีประวัติเล่าว่า ครูจาบเดินทางไปบ้านแพน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ไปทำน้ำมนต์รักษาอาการไข้ให้กับหลวงพ่อปานวัดบางนมโค จนหลวงพ่อปานยอมรับและเรียกครูจาบว่า”พ่อหมอ”

ทั้งนี้ หลวงพ่อยงยุทธเป็นหนึ่งในศิษย์สายวัดประดู่ทรงธรรมจ.พระนครศรีอยุธยา อาทิ หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง จ.นนทบุรี, หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช หลวงพ่อแทน วัดแก้วฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลวงพ่อปลื้ม วัดสวนหงษ์ จ.สุพรรณบุรี

หลวงพ่อยงยุทธเป็นพระปฏิบัติดีและเก่งมากรูปหนึ่ง แม้ท่านจะไม่ใช่ชาวชลบุรี แต่คนเมืองนี้ต่างเลื่อมใสศรัทธา เพราะท่านเป็นพระที่เก่งมากๆในเรื่องวิชาอาคมและมีพลังจิตที่เข้มแข็งแน่จริงๆ เคยได้ฟังเรื่องราวของหลวงพ่อจากศิษย์ใกล้ชิดซึ่งอยู่แถวพนัสนิคมเล่าถึงอภินิหารเกี่ยวกับตัวท่านมากมาย เรื่องกสิณจะเห็นกันบ่อยๆในหมู่ลูกศิษย์

พระเครื่องของท่านทุกรุ่นมีประสบการณ์ดีมากๆในเรื่องแคล้วคลาด คงกระพัน เมตตา คนที่รู้จักมักจะเก็บไว้บูชาไม่ค่อยยอมปล่อยต่อ ดังนั้นพระเครื่องของท่านเราจะไม่ค่อยพบเจอในสนามบ่อยนัก ส่วนใหญ่ลูกศิษย์ที่รู้จักจะเก็บกันหมด ยิ่งเป็นรุ่นหลักๆของท่านนานปีจะเจอสักองค์เช่นเหรียญรุ่นแรกปี16 พระกริ่งปาฏิหารย์79(ล้อพิมพ์กริ่ง79วัดสุทัศน์) รูปหล่อปั้ม,พระขุนแผนรุ่นแรก ปี07,พระสมเด็จยุคแรกๆ พระชินราชปี18 ฯลฯ

วัตถุมงคลของหลวงพ่อยงยุทธที่เล่นหากัน และมีประสบการณ์มากได้แก่ พระเครื่องที่สร้างสมัยพล.อ.กฤษณ์ สีวรา สมัยพล.อ.สงัด ชลออยู่ สมัยพล.อ.สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ และระดับผู้บัญชาการนาวิกโยธินอีกหลายท่าน

พระสมเด็จแหวกม่านรุ่นแรก สร้างเมื่อปีพ.ศ.2513 ในยุคที่พล.อ.กฤษณ์ สีวรา ให้การอุปถัมภ์สร้างศาสนสถานต่างๆให้กับวัดเขาไม้แดง ทั้งด้านสาธารณูปโภคให้มีความสะดวกสบาย ตัดถนนและสร้างบันไดขึ้นเขา หลวงพ่อยงยุทธได้อธิษฐานจิตสร้างพระสมเด็จพิมพ์แหวกม่านขึ้นเป็นรุ่นแรก เพื่อมอบเป็นที่ระลึกและสมนาคุณให้กับพล.อ.กฤษณ์ สีวรา และผู้ที่ได้ร่วมทำบุญทอดกฐินในปีนั้น โดยทางวัดได้ดำเนินการจัดสร้างเอง เริ่มจากทำบล็อกจากหินลับมีดโดยการนำก้านร่มมาเหลาแหลมบ้าง แบนบ้าง แล้วเอามาแกะลงในหินลับมีดใช้เวลาแกะเป็นเดือนๆกว่าจะแล้วเสร็จ

เมื่อได้ทรงพระของแหวกม่านแล้วจึงทดลองกดพิมพ์พระประมาณ 7-10 องค์แล้วนำไปให้หลวงพ่อตรวจดู พอท่านตรวจดูแล้ว พิมพ์พระยังไม่สวยก็ให้นำมาแก้ไขบล็อกใหม่ตามคำบอกของท่าน กลุ่มพระที่เป็นช่างก็จะไปแกะแก้ไขเพิ่ม แล้วก็กดมาให้หลวงพ่อดูครั้งละ 7-10 องค์ ทำอยู่อย่างนี่ประมาณ 5-7ครั้ง จนได้พิมพ์พระที่สวยงามตรงความต้องการของท่าน กลุ่มพระในวัดจึงเริ่มกดพิมพ์ พระชุดนี้ตำผงกันเองครกหนึ่งได้ประมาณ 20 องค์แล้วนำมากด เมื่อกดแล้วปรากฏว่าพระไม่สวย กดไม่เต็มก็จะนำมาตำเป็นผงใหม่เพื่อกดพิมพ์พระให้เต็มให้สวย

การตำผงในแต่ละครกเนื้อจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าผสมผงอะไรมากน้อยแค่ไหน โดยพระในวัดรวมทั้งเณรนั่งตำนั่งกดกัน 5 วัน 5 คืน ถึงเวลาฉันก็สลับกันฉัน เมื่อถึงเวลากลางคืนก็จุดตะเกียง พระที่กดออกมาใด้ทั้งหมดไม่เกิน 600 องค์

​เหรียญรุ่นแรกปี 2516 ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อยงยุทธนั่งขัดสมาธิเต็มองค์หันหน้าตรง ขอบเหรียญเป็นรูปจุดไข่ปลา ด้านล่างใต้รูปเหมือน เขียนเลข "๑" เป็นเลขไทย และใต้ตัวเลขเขียนคำว่า "ธมฺมโกสโล" ซึ่งเป็นนามฉายาของท่าน ส่วนด้านหลังมี 2 พิมพ์คือหลังยันต์นะพรชัย เด่นด้านเมตตา อีกพิมพ์ คือหลังยันต์ประจุธาตุ เด่นด้านคงกระพันชาตรี จำนวนสร้างเหรียญทั้ง 2 พิมพ์ประกอบด้วย เนื้อเงิน 100เหรียญ กะไหล่ทอง กะไหล่เงิน รมดำ และไม่รมดำ จำนวนสร้างพิมพ์ละ 1,000 เหรียญ

​เหรียญรุ่น2 ออกปีพ.ศ.2519 จำนวนสร้างประมาณ 10,000 เหรียญ ทุกเหรียญตอกหมายเลข ออกแบบได้สวยงาม และราคาย่อมเยากว่ารุ่นแรก แต่ประสบการณ์สูงไม่แพ้กัน คนพื้นที่หวงกันมาก

​พระกริ่ง-พระวัฒน์ ธัมมโกสโล รุ่น “ปาฏิหาริย์มาฆบูชา” สร้างปี 2527 ถอดแบบจากพระกริ่ง 79 วัดสุทัศน์ และได้ท่านอาจารย์นิรันดร์ (หนู) แดงวิจิตร เป็นผู้ควบคุมการหล่อให้ตรงตามตำรับกริ่งวัดสุทัศน์ สำหรับพระส่วนใหญ่ จะตอกโค้ด และมีหมายเลขกำกับ ที่มีรอยจารของหลวงพ่อครบสูตรด้วยนั้น หายากมาก

​พระกริ่งรุ่นนี้นับว่าหายากและมีประสบการณ์มากๆตั้งแต่ตอนเททองหล่อพระ มีคนถ่ายรูปแล้วได้ภาพมีลำแสงออกมาจากหลวงพ่อยงยุทธ ในขณะกำลังเททอง สายสิญจน์ที่ตกลงไปในเบ้าหลอมไม่ไหม้ไฟ และอีกเหตุการณ์คือช่างเททองทำน้ำทองที่กำลังจะเทลงในเบ้าพระกริ่งพระชัยวัฒน์รุ่นปาฏิหารย์มาฆะบูชา น้ำทองร้อนๆได้หกรดใส่ที่ขาแล้วไหลลงเข้าไปในรองเท้าของช่างเททอง แต่แปลกที่เท้าของช่างคนนั้นไม่ได้รับบาดเจ็บ

พระกริ่ง-ชัยวัฒน์รุ่นนี้ หลวงพ่อยงยุทธตั้งใจทำมากๆ เนื้อหาชนวนโลหะเก่าๆเพียบ สร้างคล้ายกับพระกริ่ง 79 ของสมเด็จสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ในปัจจุปันพระกริ่งชัยวัฒน์ หลวงพ่อยงยุทธ หายากมากเมื่อเทียบกับพระกริ่งดังๆทั้งหลายที่สร้างในยุคนั้น โดยมีผู้นำทองคำ เงิน นาค มาร่วมหลอมในพระชุดนี้จำนวนมากเช่น คุณชิงชัย บัณฑราภิวัฒน์ มอบทองคำหนัก 20บาทมาหลอมสร้างพระชุดนี้

นอกจากนี้มีชนวนตะกรุดพระเหรียญต่างๆที่ได้มาหลอมในพิธี จำนวนสร้างพระกริ่ง เนื้อนวโลหะและเนื้อสัมฤทธิ์ รวมกันทั้งหมดประมาณ 2,527 องค์(ข้อมูลจากศิษย์หลวงพ่อที่เคยทำหน้าที่จำหน่ายวัตถุมงคล)

“พระขุนแผนสะกดทัพ” ถือเป็นพระที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดของวัดเขาไม้แดง ซึ่งมีการจัดสร้างออกมาหลายครั้ง หลายวาระ โดยวัตถุประสงค์ของหลวงพ่อท่านสร้างเพื่อแจกให้เหล่าลูกศิษย์ไปใช้กัน เมื่อหมดก็จะปั๊มใหม่ เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ไปบูชากัน โดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ยากดีมีจน และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายเป็นพุทธพาณิชย์ เป็นการสร้างแจกเหมือนพระเกจิอาจารย์สมัยก่อน โดยมีหลากหลายแบบ หลายพิมพ์ หลากหลายเนื้อ แล้วแต่คราวที่จะผสมและปั๊ม ส่วนอุปเท่ห์ในการใช้นั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่ทุกวันนี้ถูกแบ่งแยกค่านิยมตามผู้นิยมสะสมพระเครื่องในสมัยนี้กันเอง

​พระเครื่องหลวงพ่อยงยุทธ เยี่ยมยุทธ์สุดๆไปเลย เจอะเจอะที่ไหนเก็บได้ทันที! รับประกันเล่นหาราคาไม่ตกครับ!!

อนึ่ง วัดเขาไม้แดง ปัจจุบันมีพระครูวิสิฐธรรมโสภณ หรือ"หลวงพ่อสง่า" เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลบางพระเขต2 ซึ่งท่านเป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมสายตรงจากหลวงพ่แยงยุทธ โดยเฉพาะวิชาเจิมมือนะพระแม่โพสพ ตำรับโบราณที่หลวงพ่อยงยุทธได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก

"#ฉัตรสยาม"


ดู 331 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page