#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 1ธ.ค. 2567
“หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร"ศิษย์เอกปู่กลิ่น
ผู้สืบสานตำนาน"ปิดตา/ตะกรุด"วัดสพานสูง
เก่งแก้คุณไสย-ไล่ผี/ของดีพุทธคุณเข้มขลัง
“วัดสพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี” มีสะพานข้ามคลองเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งหากเอ่ยชื่อวัดนี้ครั้ง คราใดในหมู่นักสะสมพระเครื่องย่อมปรารถนาจะได้ครอบครองพระปิดตาที่มีพุทธคุณและราคาเช่าหาสูง ซึ่งสร้างโดย “หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม” เจ้าอาวาสองค์แรก
นอกจากชื่อเสียงอันโด่งดังของหลวงปู่เอี่ยมแล้ว ยังมีศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมจากท่านไล่เรียงกันมาคือ “หลวงปู่กลิ่น จนฺทรํงสี” และ “หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร” ทั้ง 3 ท่านนับว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญให้วัด และเป็นปูชนีย์สงฆ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวนนทบุรีมาจนทุกวันนี้
สำหรับหลวงพ่อทองสุข แม้ท่านจะไม่ได้เป็นชาวนนทบุรีโดยกำเนิด แต่ก็สามารถครองใจคนในพื้นที่ได้อย่างดีเยี่ยมไม่แพ้ผู้เป็นปรมาจารย์ ที่สำคัญ ท่านได้วิชาอาคมมาจากสุดยอดคณาจารย์ดังเมืองเพชร 2 องค์คือ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง,หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง สื่อให้เห็นว่า ท่านต้อง “ไม่ธรรมดา” ทีเดียวเชียว!!
ท่านเกิดในตระกูล “บุญมี” เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2446 ที่บ้านหนองไผ่เหลือง ต.หนองขนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นบุตรนายคง นางแพ มีพี่น้องรวม 5 คน ท่านเป็นคนสุดท้อง อายุ 11 ปี ได้ศึกษาหนังสือไทยและขอมที่วัดหนองหว้า อยู่กับอาจารย์จ้อย อาจารย์สาย และอาจารย์นิ่ม จนอ่านเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมได้ พออายุ 13 ปีได้ออกจากวัดไปอยู่กับอาที่จ.ราชบุรี ประมาณ 5 ปี ก่อนที่จะกลับมาอยู่กับบิดามารดา ทำนาหาเลี้ยงชีพที่บ้านเกิด
กระทั่งอายุ 20 ปีถูกเกณฑ์ทหารเป็นทหารราบ กรมทหารราบที่จ.เพชรบุรี รับราชการอยู่ถึง 2 ปีกับ 1 เดือน แล้วจึงมาสมัครเป็นตำรวจภูธรได้ยศเป็นสิบตำรวจตรี เพราะมียศทางทหารอยู่แล้ว เป็นตำรวจประจำเพชรบุรีอยู่ 2 ปี แล้วถูกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดคือ พัทลุง,ชุมพร,ด่านสะเดา สงขลา,จนได้รับยศเป็นสิบโท แล้วย้ายไปอยู่นราธิวาส,สตูล, อ.บ้านโป่ง ราชบุรี,อ.จตุรัส ชัยภุมิ,สุรินทร์
จนครั้งสุดท้ายย้ายมาอยู่เพชรบุรีอีก 1 ปี ก่อนจะเกิดเบื่อหน่ายจึงลาออกและเข้าอุปสมบทเมื่อพ.ศ.2470 ที่วัดนาพรม มีหลวงพ่อหวล เจ้าอาวาสวัดนาพรม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ผ่อง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “อินทสาโร” จากนั้นไปจำพรรษาที่วัดหนองหว้าหนึ่งพรรษา ได้ศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อหวล (หลวงน้าของหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก) แล้วไปเรียนกับหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง,หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง
เมื่อเรียนอาคมมามากแล้ว ทั้งได้เรียนด้านปริยัติธรรมหาความรู้จนได้นักธรรมโท จึงมุ่งหน้าออกเดินธุดงค์หาความสงบไปตามป่าเขาลำไพร แม้กระทั่งทางอรัญญประเทศ ปราจีนบุรี ดินแดนที่เต็มไปด้วยยาสั่ง ท่านก็ไม่หวั่นกลัวแต่อย่างใด มีพวกที่ลองวิชาและคิดทำร้ายหลายครั้งหลายคราว แต่ไม่อาจทำอะไรท่านได้เลย
ต่อมามีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่ออาจารย์เพ็ง จำพรรษาอยู่ที่วัดสะพานสูง นนทบุรี เดินธุดงค์มาพบกันจนคุ้นเคยและชักชวนให้เดินทางมาด้วยกัน โดยจำพรรษาที่วัดท่าเกวียน ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีได้ 3 พรรษา ขณะนั้นวัดท่าเกวียนยังไม่มีสำนักเรียนธรรม อีกทั้งได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่กลิ่นแห่งวัดสะพานสูงจึงไปมาหาสู่ท่านบ่อยๆ จนกระทั่งย้ายมาอยู่วัดสะพานสูงเพื่อศึกษาปริยัติธรรม และฝากตัวเป็นลูกศิษย์คอยปรนนิบัติรับใช้ หลวงปู่กลิ่นก็เมตตาถ่ายทอดวิชาอาคม ตลอดจนการฝึกกรรมฐาน และถ่ายทอดวิชาการสร้างพระปิดตาให้จนหมดสิ้น นอกจากนี้ ยังได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม
ปีพ.ศ.2475 สอบนักธรรมตรีได้ พ.ศ.2476 สอบนักธรรมโท ในขณะนั้นวัดสะพานสูงขาดครูสอนพระปริยัติธรรม หลวงปู่กลิ่นจึงมอบหมายให้ทำหน้าที่สอนปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร และถ่ายทอดตำราเวทย์มนต์คาถาต่างๆ เช่น ลงตะกรุด ทำผง พระปิดตา ทำน้ำมนต์ ให้จนหมดสิ้น โดยหลวงพ่อทองสุขได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นลูกมือในการสร้างพระเครื่อง และพระปิดตาอีกด้วย หลังหลวงปู่กลิ่นมรณภาพ ท่านก็รับหน้าที่ปกครองวัดมาตั้งแต่พ.ศ.2492 เป็นต้นมา
หลวงปู่ทองสุขท่านเก่งทางเรื่องแก้คุณไสย บางรายถูกมาอย่างหนัก ท่านจะใช้วิธีเรียกคุณนั้นเข้าลูกมะพร้าว แล้วให้ใช้มีดโต้ลงยันต์ผ่าออกมาดู จะเห็นเป็นอะไรต่ออะไรที่คนเขาทำมามากมาย อาทิ ด้ายสายสิญจน์ ตะปู เทียน ฯลฯ คนที่ถูกลมเพลมพัดท่านให้อาบน้ำมนต์ก็หาย เรื่องผีเข้าผีสิงท่านก็ปราบมาเยอะ เพียงแค่เอาตะกรุดคล้องคอเท่านั้น
วาระสุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2525 เวลา 08.00 น. สิริอายุ 79 ปี 19 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2526 เวลา 16.30 น. ณ เมรุลอยวัดสะพานสูง
ท่านสร้างพระเครื่องไว้หลายแบบ ทั้งพระปิดตาแบบลอยองค์ตามแบบของหลวงปู่กลิ่น และหลวงปู่เอี่ยมเจ้าสำนัก, รูปเหมือนลอยองค์ เนื้อผง,เนื้อผงผสมใบลานของพระอาจารย์,เหรียญรูปเหมือนของท่าน รุ่นแรกปี 2507 และเหรียญข้าวหลามตัดหลวงปู่เอี่ยม, เหรียญเสมาหลวงปู่กลิ่น ปี2512 ,ตะกรุดโทน,พระกริ่งโกษา,พระเนื้อหินมีดโกน ล็อกเก็ต ฯลฯ แต่ละอย่างล้วนโด่งดังและเข้มขลังไม่แพ้ของหลวงปู่กลิ่นผู้เป็นอาจารย์ เป็นที่ปรารถนาของนักสะสมสายวัดสะพานสูง
พระปิดตาหลวงพ่อทองสุขมีหลายพิมพ์ ท่านสร้างตั้งแต่ก่อนปี 2500 จนถึงปี 2520กว่าๆ เนื้อหาและพิมพ์ทรงที่เล่นหาสะสมแยกแยะได้ไม่ยาก บางรุ่นเนื้อหาเป็นผงแก่น้ำมัน บางรุ่นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นพิมพ์สะดือจุ่น มีทั้งจุ่มรัก ไม่จุ่มรัก และแบบผงคลุกรัก เป็นต้น มีทั้งแบบหน้าเดี่ยวและสองหน้า ซึ่งพิมพ์สองหน้าจะหาได้ยากกว่า
ในด้านประสบการณ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้เป็นอาจารย์ สามารถบูชาแทนพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม หรือหลวงปู่กลิ่น ได้อย่างสบายใจ เพราะทุกรุ่นจะมีมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆสมัยหลวงปู่เอี่ยมและหลวงปู่กลิ่น ผสมลงไปด้วยทุกครั้ง
เครื่องรางอย่าง”ตะกรุดมหาโสฬสมงคล” ก็สุดยอดแห่งความขลัง โดยใช้การเขียน การลบ การจบ การลง แบบองค์อาจารย์อย่างเข้มขลัง เคร่งครัดตามตำรับวัดสะพานสูง ส่วนประเภทเหรียญสร้างไว้ประมาณ 10 รุ่น เหรียญรุ่นแรกออกปี2507 เป็นเหรียญที่สร้างน้อย และหายากเข้าไปทุกวัน แถมมี”ของเก๊”ไม่น้อย โดยสร้างพร้อมเหรียญข้าวหลามตัด ยันต์เล็กในปี 2507 ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง แบ่งเป็น 2 พิมพ์ คือ ด้านหลังหลวงพ่อโสธร และด้านหลังยันต์เล็กเหมือนเหรียญข้าวหลามตัด,เหรียญยอดนิยมอีกรุ่นคือ เหรียญที่ระลึกสร้างศาลาการเปรียญ ปี 2518 (รุ่น6) หลังพระปิดตา
ส่วนเรื่องพุทธคุณนั้นท่านปลุกเสกเน้นด้านเมตตา แคล้วคลาด โชคลาภ เจอะเจอ “ของแท้”ที่ไหน รีบเก็บไว้โดยพลัน รับประกันความงดงามทางพุทธศิลป์ และความขลังที่ไม่เคยเสื่อมคลาย
ปัจจุบันวัดสพานสูงมีพระครูสุทธิกิจโกศล (สมภพ สุวโจ) หรือ"พระอาจารย์เดี่ยว" เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระนักพัฒนา ผู้สืบทอดตำราวิชาของสำนักวัดสพานสูง โดยเป็นกนึ่งใน 21 เกจิที่เมตตาปลุกเสกเดี่ยว"พระขุนแผนพลายแก้วมหาเศรษฐี" รุ่นแรก"คัมภีร์นิวส์"
#ฉัตรสยาม
Comments