#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง
ประจำวันอาทิตย์ที่ 5 ม.ค. 2568
"หลวงพ่อแช่ม"วัดฉลอง/เกจิดังเมืองภูเก็ต
พระสงฆ์องค์แรกที่ได้รับการ"ปิดทองแก้บน"
ผู้สร้างตำนาน"ผ้าประเจียด"ปราบ"กบฏอั้งยี่"
"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ
พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือ "หลวงพ่อแช่ม" อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เกจิดังขมังเวทย์ผู้สร้างตำนานเครื่งรางผ้าประเจียดปราบปรามจีนอั้งยี่ภูเก็ตจนราบคาบ
ท่านเกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. 2370 ที่ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับนามของบิดามารดา ต่อมาครอบครัวอพยพหนีภัยพม่ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านฉลอง จ.ภูเก็ต โยมทั้งสองส่งไปเป็นลูกศิษย์ของ"พ่อท่านเฒ่า" เจ้าอาวาสวัดฉลองในเวลานั้น โดยบรรพชาและอุปสมบทศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆจากพ่อท่านเฒ่าจนเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน มีสมาธิจิตสูง รวมทั้งได้ศึกษาวิชาคาถาอาคมต่างๆ วิชาแพทย์แผนโบราณ ต่อมาในปี พ.ศ. 2393 พ่อท่านเฒ่ามรณภาพ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแช่มเกิดขึ้นในช่วงที่เมืองภูเก็ตเต็มไปด้วยคนจีนที่มาทำเหมืองแร่ และชาวจีนได้รวมตัวกันเป็นอั้งยี่ กล่าวคือในปี พ.ศ. 2419 เกิดจลาจลขึ้นในเมืองภูเก็ตจากฝีมือของกลุ่มอั้งยี่กรรมกรขุดแร่ดีบุกชาวจีน ชาวบ้านฉลองที่เคยเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อแช่มได้ชักชวนให้ท่านหนีภัยไปซ่อนตัวอยู่ที่อื่น แต่ท่านไม่ยอมทิ้งวัดหนีไป ลูกศิษย์จึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันสู้เพื่อปกป้องหลวงพ่อแช่มและขอผ้าประเจียดจากท่านเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งท่านได้อนุโลมตามที่บรรดาลูกศิษย์ขอร้อง
ลูกศิษย์ชาวบ้านฉลองกลุ่มนี้ต่อมารบพวกอั้งยี่ชนะ ทำให้คนที่หนีภัยอั้งยี่กลับเข้ามารวมกลุ่มกันสู้พวกจีนอั้งยี่มากขึ้นและอาศัยผ้าประเจียดที่หลวงพ่อแช่มทำขึ้นเป็นเครื่องปลุกใจสำคัญ จนกระทั่งสามารถไล่พวกจีนอั้งยี่ไม่ให้เข้ามาปล้นหมู่บ้านฉลองได้อีก
ปีพ.ศ. 2420 เมื่อทางการปราบปรามจีนอั้งยี่ภูเก็ตจนราบคาบแล้ว คณะกรมการเมืองภูเก็ตได้ยกความดีความชอบส่วนหนึ่งในการปราบกบฏอั้งยี่ครั้งนี้ให้แก่หลวงพ่อแช่ม และเวลานั้นตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตยังว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดแต่งตั้งให้หลวงพ่อแช่มเป็นพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต สมณศักดิ์ที่ "พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี" และได้พระราชทานนามวัดฉลองใหม่ว่า "วัดไชยธาราราม"
อนึ่ง จากเหตุจลาจลอั้งยี่ดังกล่าว ทำให้ชาวเมืองภูเก็ตเชื่อว่า ที่ชาวบ้านฉลองรบชนะพวกจีน เพราะท่านพระครูวัดฉลองมีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคม จึงนับถือกันว่าท่านเป็นเกจิอาจารย์สำคัญคนหนึ่งมานับแต่นั้น และอีกเรื่องที่เป็นความเชื่อที่บอกกล่าวกันมา ก็คือ เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของไม้เท้า ที่สามารถช่วยรักษาโรคฝี ปาน ไส้เลื่อน ฯลฯ
ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้น ที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้น ต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย
ความศักดิ์สิทธ์ของหลวงพ่อแช่มเกิดขึ้นหลายครั้ง ชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มเลื่องลือไปไกล เล่ากันว่าในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นถึงกับมีผู้ที่รอปิดทองตามแขนและขาของท่านจนแลดูเหลืองอร่ามไปทั่ว ราวกับปิดทองพระพุทธรูป
เหตุที่ผู้คนได้ขอปิดทองกับหลวงพ่อนั้น เกิดจากชาวเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประมาณสี่ถึงห้าคนออกหาปลาในทะเล และเจอพายุลูกใหญ่ จนเรือใกล้จะล่ม จึงมีคนหนึ่งออกปากบนว่า “ถ้ารอดชีวิตได้จะปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง” ลมพายุได้สงบลงทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ใจ คนกลุ่มนั้นจึงมาขออนุญาตแก้บนด้วยวิธีการปิดทอง กิตติศัพท์ของ “หลวงพ่อแช่ม” จึงได้กระจายออกไปว่ามีชาวเรือรอดตายเพราะการบนด้วยวิธีนี้ จึงมีผู้อื่นทำตาม ถ้าเกิดเหตุเดือดร้อนหรือเจ็บไข้ ก็จะบนถึงเรื่องการปิดทองเพื่อให้สมหวังในเรื่องต่างๆ จึงเกิดการปิดทองหลวงพ่อแช่มตั้งแต่นั้นมา
การที่หลวงพ่อแช่มยอมให้ปิดทอง เพียงเพราะว่าท่านเชื่อเรื่องการบนบานศาลกล่าว และเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายแก่ผู้ที่บน บาปก็จะตกอยู่กับตัวท่าน การปิดทองจะปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง ปิดแค่แผ่นเล็กๆเท่านั้น พอคนกลับจึงล้างออก
เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาจังหวัดภูเก็ต นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่ม นับเป็นพระภิกษุองค์แรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่
วาระสุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2451 สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61 ได้มีการส่งหีบเพลิงไปพระราชทานเพลิงศพที่ภูเก็ต พร้อมเงิน 100 เฟื้อง ผ้าขาว 2 พับ เพื่อใช้ในการพระราชทานเพลิงศพตามธรรมเนียมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2452
แม้หลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพไปนานแล้ว ก็ยังมีผู้ที่เชื่อในเรื่องอภินิหาร จึงมีการบนบาลศาลกล่าวอยู่เรื่อยมา เมื่อสมหวังก็จะปิดทองบนภาพถ่ายของหลวงพ่อจนเต็มไปทั่วทั้งแผ่น เว้นไว้เพียงแต่บริเวณหน้าของหลวงพ่อเท่านั้น
วัตถุมงคลในสมัยที่ท่านยังชีวิตอยู่นั้น มีเพียง “ผ้าประเจียด” ที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ แล้วปลุกเสกด้วยความตั้งใจจริง จึงมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง ส่วนวัตถุมงคลที่เป็นรูปเหมือนบูชา เหรียญ หรือพระผง และอื่นๆ ได้มีการจัดสร้างขึ้นหลังจากท่านมรณภาพไปแล้วในราว 20 ปี เป็นการจัดสร้างโดยวัดฉลอง และวัดอื่นๆ จึงทำให้วัตถุมงคลหลวงพ่อแช่มมีอยู่จำนวนมากมายหลายรุ่น ซึ่งล้วนแต่มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ในทุกด้าน
เหรียญหลวงพ่อแช่ม ปี2486 ถือเป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มรุ่นแรก และเป็นรุ่นเดียวที่หลวงพ่อช่วง ศิษย์เอกของท่านเป็นผู้ร่วมสร้าง ที่ได้รับความนิยมคือ"พิมพ์ยันต์วรรค" หลังจากนั้นมีการนำพิมพ์เหรียญนี้มาสร้างขึ้นอีกโดยวัดอื่น ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด ทำให้นักสะสมนิยมเรียกตามลักษณะของพิมพ์ เช่น พิมพ์สายฝนเล็ก พิมพ์สายฝนใหญ่ พิมพ์จุดกระโดด พิมพ์หัวโน เป็นต้น (ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสายตรงในเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กเพิ่มเติมได้)
#ฉัตรสยาม
Comments