top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 ก.ค. 2567 "หลวงพ่อแพ"วัดพิกุลทอง เกจิดังเมืองสิงห์ เทพเจ้าลุ่มแม่น้ำน้อย/ศิษย์เอกหลวงปู่ศรี

#คอลัมน์ย้อนรอยเกจิดัง

ประจำวันอาทิตย์ที่ 7 ก.ค. 2567


"หลวงพ่อแพ"วัดพิกุลทอง เกจิดังเมืองสิงห์

เทพเจ้าลุ่มแม่น้ำน้อย/ศิษย์เอกหลวงปู่ศรี

ของดี"สมเด็จแพพัน"/ยอดนิยมตลอดกาล


"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ

"พระธรรมมุนี"หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อแพ เขมังกโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ผู้สร้างคุณูปการสูงส่งแก่ชาวเมืองสิงห์ จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย” แม้ว่าท่านละสังขารไปนานถึง 25 ปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่รำลึกนึกถึงเสมอมา ตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่จนถึงกุลบุตรกุลธิดา อีกทั้งบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เคารพศรัทธา รวมถึงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ ด้วย

เกียรติประวัตินานัปการที่ท่านได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีและพุทธาคมแห่งวัตถุมงคลเป็นที่เลื่องลือเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างสูงมาโดยตลอด


ท่านเป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2448 ที่บ้านสวนกล้วย ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเทียน-นางหน่าย ใจมั่นคง มารดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง 8 เดือน บิดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา เมื่ออายุ 11 ปี บิดามารดาบุญธรรมนำท่านไปฝากที่สำนักอาจารย์ป้อม เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม และเข้าศึกษาต่อที่สำนักวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ได้ระยะหนึ่งก็กลับบ้านเกิดเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพิกุลทอง โดยมี พระอธิการพัน จันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเดินทางกลับวัดชนะสงครามตามเดิม จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร


เมื่ออายุครบบวชก็กลับมาอุปสมบทที่วัดพิกุลทองอีก โดยมี พระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ ท่านเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกโร” แล้วเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดชนะสงคราม ศึกษาด้านพระปริยัติธรรมขั้นสูง จนได้เปรียญ 4 ประโยค ได้เป็น “พระมหาแพ”


หลังจากนั้นมานัยน์ตาเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมจึงต้องยุติลง แต่ด้วยความเป็นผู้ใฝ่ศึกษา ท่านจึงหันมาศึกษาด้านสมถกัมมัฎฐานและวิปัสสนากัมมัฎฐานที่สำนักพระครูภาวนา วัดพระเชตุพนฯ และยังได้เป็นศิษย์รูปหนึ่งของ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ด้วย ต่อมาทราบว่าที่อำเภอบางระจัน มีพระอาจารย์เรืองวิทยาคมและวาจาศักดิ์สิทธิ์นัก ชื่อ "หลวงพ่อศรี" เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ จึงเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์และเป็นที่โปรดปรานของพระอาจารย์อย่างยิ่ง


ปี พ.ศ.2473 อาจารย์หยด เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองลาสิกขาบท ชาวบ้านจึงร่วมกันนิมนต์ท่านให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทนในปี พ.ศ.2474 ท่านจึงเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อปกครองวัดพิกุลทอง โดยขณะนั้นมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น และวัดพิกุลทองก็ชำรุดทรุดโทรมมาก ท่านจึงไปปรึกษาหลวงพ่อศรีและด้วยบารมีของพระเกจิทั้งสองรูป จึงสามารถบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุภายในวัดพิกุลทองได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอประชุมกุฎิสงฆ์ หอไตร หอฉัน ศาลาวิปัสสนา โรงฟังธรรม และฌาปนสถาน เป็นต้น


นอกจากนี้ ท่านยังสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นอีกมากมายเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ทั้ง โรงพยาบาล, ที่ว่าการอำเภอ, สถานีตำรวจ, สถานีอนามัย, โรงเรียนประชาบาล, สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนอาคารผู้ป่วยของโรงพยาบาลสิงห์บุรีที่เป็นอนุสรณ์สืบมาจนปัจจุบัน คือ อาคารหลวงพ่อแพ 80 ปี, อาคารหลวงพ่อแพ 86 ปี (อาคารเอ็กซเรย์), อาคารหลวงพ่อแพ 90 ปี และ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ที่โดดเด่นเป็นสง่าภายในโรงพยาบาลสิงห์บุรี


หลวงพ่อแพเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนโดยถ้วนหน้า มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมมุนี" ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 73 ปัจจุบันสรีระของท่านยังคงประดิษฐาน ณ วัดพิกุลทอง เพื่อให้ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชาสืบมา


หลวงพ่อแพเริ่มสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 และด้วยความศรัทธาในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านจึงได้สร้าง “พระสมเด็จ”โดยยึดถือแนวทางการสร้างของสมเด็จโตเป็นส่วนใหญ่ รวมแล้ววัตถุมงคลของท่านมีไม่ต่ำกว่า 300 พิมพ์ มีทั้งเนื้อผงและเนื้อโลหะ อาทิ พระสมเด็จ พระนางพญา พระรอด พระปิดตา พระลีลาทุ่งเศรษฐี พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระขุนแผน พระผงรูปเหมือน นางกวัก ฯลฯ


ท่านจะไม่เน้นเรื่องความสวยงามเป็นหลัก หากแต่เน้นในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ จะพิถีพิถันในการปลุกเสกให้เกิดความเข้มขลัง แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง, เมตตามหานิยม, อุดมด้วยลาภผลและโภคทรัพย์ แต่ผู้ที่ใช้วัตถุมงคลของท่านแล้วจะเกิดพุทธคุณได้นั้นต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด


ด้านค่านิยมนั้น สำหรับ ‘พระเนื้อผง’ ที่มีเนื้อหาจัดสุด มีความฝีมือประณีตสุด และราคาแพงที่สุด คือ “พระสมเด็จแพพัน” ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2510 คำว่า “แพ” นั้น หมายถึง หลวงพ่อแพ ส่วนคำว่า “พัน” หมายถึง พระอธิการพัน อดีตเจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งบวชเณรที่ท่านเคารพนับถือมาก ลักษณะด้านหน้า จะเป็นพระสมเด็จพิมพ์อกครุฑเศียรบาตร หรือทรงไกเซอร์ ซึ่งต่อมารูปแบบพระสมเด็จที่สร้างในภายหลัง จะยึดเอกลักษณ์พิมพ์ทรงเดียวกันทั้งด้านหน้าและหลัง ต่างกันที่ตัวเลขด้านหลังที่อยู่ตรงกลางใต้รูปเหมือน และเนื้อหามวลสารเท่านั้น ได้แก่ แพ 2 พัน, แพ 3 พัน จนถึง แพ ๙ พัน


ส่วน ‘พระเนื้อโลหะ’ ที่นับว่าได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ “พระสมเด็จทองเหลือง” ปี พ.ศ.2494 เป็นพระสมเด็จรุ่นแรกที่ท่านสร้าง สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่"พระครูศรีพรหมโสภิต" โดยจำลองแบบพิมพ์จากพระสมเด็จวัดระฆังฯ สร้างเป็นเนื้อทองเหลืองแบบเนื้อขันลงหิน รูปสี่เหลี่ยมแบบหล่อโบราณ มีลักษณะพิเศษคือ จะปรากฏเกล็ดทองทั่วองค์พระ แบ่งเป็น 2 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ลึกและพิมพ์ตื้น


นอกจากนี้ ก็มีเหรียญรูปเหมือนที่ออกโดยตรงที่วัดพิกุลทองและท่านอนุญาตให้วัดและองค์กรต่างๆจัดสร้างอีกหลายรุ่น ซึ่งสามารถศึกษาหาข้อมูลการสร้างได้ตามเว็บไซต์และกลุ่มนักสะสมสายตรงต่าง,พระกริ่ง,รูปหล่อ,เครื่องรางของขลังอย่างตะกรุดโทน,ผ้ายันต์,รูปถ่าย ฯลฯ


วัตถุมงคลของหลวงพ่อแพ แม้จะสร้างเป็นจำนวนมากและมีหลายเนื้อ หลายรุ่น หลายแบบ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านบางรุ่นยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย และเริ่มหายาก แถมสนนราคาเล่นหาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ


#ฉัตรสยาม


ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page