top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

ย้อนรอยเกจิ/ ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ก.พ. 2567 “ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก"วัดชัยมงคล (วังมุย) อดีตเกจิลำพูนอาคมขลัง/ศิษย์ครูบาศรีวิชัย

ย้อนรอยเกจิ/

ประจำวันอาทิตย์ที่ 4 ก.พ. 2567

“ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก"วัดชัยมงคล (วังมุย)

อดีตเกจิลำพูนอาคมขลัง/ศิษย์ครูบาศรีวิชัย

เหรียญรุ่นแรก-”พระคง”มาแลกไม่มีใครยอม!

“ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก” อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกวัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน หนึ่งในศิษย์ของท่านครูบาศรีวิชัย เป็นพระผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ท่านปฏิบัติตามแนวทางกรรมฐาน 4 ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างอุกฤษฏ์ ชนิดยอมเอาชีวิตเข้าแลก จึงปรากฏว่าท่านเป็นที่เคารพบูชาของชาวล้านนา และบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบรรดาทหารและตำรวจ

กิตติศัพท์ความเก่งกล้าทางด้านวิชาพุทธาคมของครูบาชุ่ม เป็นที่เชื่อมั่นในหมู่ประชาชนยิ่งนัก โดยเฉพาะด้านคงกระพัน มหาอุด แคล้วคลาด เหตุที่ทำให้ครูบาชุ่ม โด่งดังเป็นที่เคารพศรัทธาในหมู่ตำรวจทหาร คือ เสื้อยันต์สิบสองดอกหรือยันต์ตะกรุดเสื้อ ที่หมู่ทหารของกองพลเสือดำ ในสมัยสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2498-2518) นำไปบูชาต่าง

รอดพ้นจากภยันตรายกลับสู่ภูมิลำเนา และบอกเล่าต่อกันมาถึงความศักดิ์สิทธิ์

ท่านมีความสามารถพิเศษคือ สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ทั้ง 4 อิริยาบถ ถึงขนาดหลวงพ่อฤาษีลิงดำยกย่องว่า "เป็นพระอรหันต์ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ ทั้ง 4 อริยาบถและเคยเกิดเป็นพี่ชายเรามาก่อน" หลวงพ่อฤาษีเคยถามท่านว่า ถ้าน้ำท่วมระหว่างเข้านิโรธ จะทำอย่างไร ? ท่านตอบว่า “ถ้าน้ำท่วมเราก็จะอธิษฐานให้ตัวเราลอยขึ้น” แสดงให้เห็นอำนาจและบุญฤทธิ์ของครูบาชุ่ม นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระเถระที่ “หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค”ให้ความเคารพ

ครูบาชุ่มได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกหลายงาน ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษกอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง จ.ลำพูน ท่านเป็นประธานพิธีมีพระอริยะเจ้าทั่วภาคเหนือเข้าร่วมในพิธีนี้ ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์อันมิได้ปรากฏขึ้นโดยง่าย

ชื่อเสียงเกียรติคุณของครูบาชุ่มยิ่งขจรไกล ความเลื่องลือเกี่ยวกับวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย บางครั้งเหล่าผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น และนำมาให้ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องทั้งประเภทเนื้อโลหะ และประเภทเนื้อผง เมื่อผู้เลื่อมใสศรัทธานำไปพกพาติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ต่างประสบเหตุการณ์ มีอภินิหารต่างๆ นานา ทั้งด้านเมตตามหานิยม มหาอุด แคล้วคลาด คงกระพัน ส่งผลให้ชาวจังหวัดลำพูน และชาวจังหวัดใกล้เคียงในยุคนั้น ต่างแวะเวียนมากราบนมัสการท่าน เพื่อขอของดีกันไม่ขาดสาย ท่านจึงมักเมตตาทำวัตถุมงคลแต่ละชนิดให้แต่ละคนตามวาสนาที่แตกต่างกัน โดยที่ไม่เคยตั้งราคาเลย

ท่านเกิดที่บ้านวังมุย ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน บิดาชื่อ “บุญ” มารดาชื่อ “ลุน” นามสกุล “นันตละ” เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน เมื่ออายุ 12 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยมีครูบาอินตา วัดพระขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้เล่าเรียนหนังสือกับเจ้าอาวาสวัดวังมุย จนอ่านออกเขียนได้ จึงมุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าจะเป็นวัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง และสำนักต่างๆที่มีพระอาจารย์เก่งๆประจำอยู่ เมื่ออายุย่าง 20 ปี จึงเดินทางกลับวัดวังมุยเพื่ออุปสมบท โดยมีครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงจ้อย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "โพธิโก"

ท่านออกเดินทางไปศึกษาหาความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐาน และยังสนใจศึกษาเล่าเรียนทางด้านวิชาอาคม และการพิชัยสงครามอีกด้วย โดยเดินทางไปศึกษากับครูบาสุริยะ วัดท้าวบุญเรือง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้ศึกษาศาสตร์สนธิทั้งแปดมรรค แปดอรรค คาถาบาลี มูลกัจจายน์ จนสามารถแปลและผูกพระคาถาได้ เมื่อศึกษาจบแล้ว ได้ไปศึกษาต่อกับพระครูบาศรีวิชัย (คนละองค์กับครูบาศรีวิชัยที่เป็นตนบุญล้านนา) วัดร้องแหย่ ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นพระอาจารย์ทางด้านวิปัสนากรรมฐาน และเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น โดยได้รับการถ่ายทอดอาคมไสยเวทย์ และการฝึกกระแสจิตควบคู่กันไป

ต่อมาท่านได้ไปศึกษากับครูบาแสน วัดหนองหมู จ.ลำพูน เป็นเวลา 2 ปี ก่อนกลับมาวัดวังมุยและออกธุดงค์ไปยังหมู่บ้านกะเหรี่ยง ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน แล้วเดินทางไปช่วยบูรณะพระบรมธาตุดอยเกิ้ง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ บูรณะวัดห้างฉัตร จ.ลำปาง อีก 3 พรรษา ในปี พ.ศ.2478 ท่านครูบาศรีวิชัยได้สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 37 ปี ได้เข้าร่วมในการสร้างทางท่านได้มีโอกาสรับใช้อย่างใกล้ชิด

คราวท่านครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพ หลวงพ่อได้รับหน้าที่ดูแลรักษาวัดรับแขกที่มาทำบุญแทนครูบาฯ ท่านได้ร่วมบูรณะวัดวาอารามต่างๆกับครูบาศรีวิชัยมากมาย ขณะที่ครูบาศรีวิชัยอาพาธอยู่ที่วัดจามเทวี ท่านได้ไปเฝ้าพยาบาล และร่วมกับครูบาธรรมชัย วัดประตูป่า ให้ช่างมาปั้นรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยเนื้อปูนปั้นแล้วนำไปหาท่านครูบาที่วัดจามเทวี เมื่อครูบาเห็นรูปของท่านแล้วน้ำตาได้เอ่อคลอเบ้าตาและเอามือลูบไล้รูปเหมือนของท่าน พร้อมกับมอบพัดหางนกยูงและไม้เท้าของท่านให้ครูบาชุ่มและสั่งเสียว่า ให้ท่านรักษาให้ดีให้ถือปฏิบัติเสมือนเป็นตัวแทนของท่าน แสดงให้เห็นว่าครูบาชุ่มเป็นศิษย์ที่ท่านเมตตาและไว้วางใจองค์หนึ่ง

วัตถุมงคลของท่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “ตะกรุดหนังลูกควายตายพราย” ตะกรุดปรอท,ตะกรุดเสื้อยันต์,ผ้ายันต์ ส่วนเหรียญรุ่นแรก ออกปี2517 นับเป็นสุดยอดเหรียญคณาจารย์เมืองเหนือที่มีค่านิยมสูง มีประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะด้านแคล้วคลาด โภคทรัพย์ จนเป็นที่ร่ำลือและเสาะหาของศิษยานุศิษย์

มูลเหตุของการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก สืบเนื่องจากชื่อเสียงเกียรติคุณของครูบาชุ่มได้ขจรขจายออกไป ทำให้ประชาชนจากทุกสารทิศได้สดับฟัง หาโอกาสเดินทางมากราบนมัสการท่าน แล้วมักแจ้งความประสงค์อยากได้เหรียญรูปเหมือนของท่านกลับไปสักการบูชา แต่ท่านไม่เคยจัดสร้าง และไม่อนุญาตให้ใครจัดสร้างด้วย โดยกล่าวว่า ต้องการให้ผู้มีความเคารพเลื่อมใส มีมานะพยายามไปหาท่านด้วยตัวเองมากกว่า ซึ่งท่านมีวัตถุมงคลชนิดอื่นๆแจกญาติโยมให้ตรงตามจริตวาสนาของแต่ละคน แต่ทั้งนี้ท่านก็ยังทิ้งท้ายให้ความหวังไว้ว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรน

จึงจะทำ

กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2517 ท่านมีวัย 76 ปีก็อนุญาตให้ศิษย์ชื่อ "ครูบาทองใบ โชติปญฺโญ" เจ้าอาวาสวัดพรหมวนาราม อ.สารภี จ.เชียงใหม่จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านขึ้นเป็นวาระแรก ท่านได้ผูกยันต์ ลงอักขระตามพระสูตรให้อย่างครบถ้วน ดังที่ปรากฏอยู่ด้านหลังเหรียญ และท่านได้แผ่อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอด 7 วัน 7 คืน ในพระวิหาร วัดชัยมงคล (วังมุย) เริ่มทำพิธีเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2517วันที่ 5 ธันวาคม 2517 จัดทำพิธีฉลองสมโภช เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดลำพูน สวดเจริญพระพุทธมนต์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ฯลฯ ครูบาชุ่มนั่งปรกบริกรรมแผ่พลังเมตตาจิตตลอดคืนสุดท้าย เช้าวันที่ 6 ธันวาคม 2517 สวดเบิกพระเนตรและมงคลสูตรต่างๆ เสร็จพิธีทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร พระสงฆ์อนุโมทนา

เหรียญพื้นที่ที่มีค่านิยมสูงอันเนื่องมาจากครูบาชุ่มท่านตั้งใจสร้างรุ่นนี้มาก ท่านเสกถึง 7วัน 7คืนเลยทีเดียว แม้แต่บล็อกที่ใช้กดพิมพ์พระท่านก็ยังเมตตาเสกให้ เมื่อทำการปั้มเหรียญท่านก็นับจำนวนเหรียญ เพื่อตรวจดูว่ามีเหรียญที่ขาด หรือเกินมาหรือไม่ (ท้ายที่สุดก็มีออกมาจนได้)

ครูบาชุ่มบอกแก่ญาติโยมว่า หากมีผู้ใดทำเหรียญเกินออกมา ขอให้ผู้นั้นไม่เจริญ ส่วนคนที่เช่าบูชาไปโดยไม่รู้..หลวงปู่ขอให้เหรียญ(เก๊)นั้นมีพุทธคุณเท่ากับเหรียญที่ได้รับการปลุกเสกจากท่าน

เรื่องพุทธคุณนั้นเกินคำบรรยาย คนในท้องที่ถึงกับบอกว่า”เอาพระคงมาแลกก็ไม่ยอม” โดยท่านกล่าวไว้ว่า “หากมีของของท่านติดตัว ต่อให้ระเบิดมาลงก็ไม่ต้องกลัว”

สำหรับวัดชัยมงคล หรือวัดวังมุย อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นวัดที่"ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต" เกจินักพัฒนาชื่อดังแห่งวัดเเสงแก้วโพธิญาณ อ.เมือง จ.เชียงราย ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ รวมทั้งอยู่จำพรรษา ต่อมาท่านได้รับอาราธนาจากญาติโยม อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มาจำพรรษา ณ วัดพระธาตุดงสีมา ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ก่อนมาสร้างวัดแห่งใหม่ ชื่อว่า “วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ”

#ฉัตรสยาม


ดู 36 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page