top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"ย้อนรอยเกจิดัง" ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค. 2567 “หลวงพ่อพาน สุขกาโม” วัดโป่งกะสัง เกจิดังแห่งกุยบุรี/เหรียญดี-ตะกรุดขลัง

"ย้อนรอยเกจิดัง"

ประจำวันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค. 2567

“หลวงพ่อพาน สุขกาโม” วัดโป่งกะสัง

เกจิดังแห่งกุยบุรี/เหรียญดี-ตะกรุดขลัง

"ย้อนรอยเกจิดัง"อาทิตย์นี้ขอนำเสนอประวัติ “หลวงพ่อพาน สุขกาโม” (พระครูประวัติศีลาจาร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเฉลิมราษฎร์ (โป่งกะสัง) ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระเกจิอาจารย์ที่

วัตถุมงคลของท่านได้รับการกล่าวขานกันว่า

มีประสบการณ์สุดยอดปลอดภัยในเรื่อง “เหนียว” โดยเฉพาะตะกรุดโทน หรือตะกรุด 9 ปล้อง และเหรียญรุ่นแรกปี พ.ศ.2519 เป็นที่หมายปองของนักสะสมในท้องถิ่นและต่างถิ่น

ท่านเป็นพระเกจิที่เก่งจริงๆของเมืองไทยอีกองค์หนึ่ง ถึงขนาดหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ เคยกล่าวยกย่องไว้ เมื่อประมาณ พ.ศ.2535 ขณะนั้นหลวงพ่อพาน ยังมีชีวิตอยู่ ชาวบ้านโป่งกะสังได้เหมารถบัสใหญ่เพื่อไปนมัสการหลวงพ่อคูณที่วัดบ้านไร่ หลวงพ่อคูณได้เห็นเหรียญที่ห้อยคอของผู้ที่ไปนมัสการ จึงถามว่า"หลวงพ่ออะไร" ได้รับคำตอบว่าเป็นเหรียญของหลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง หลวงพ่อคูณจึงกล่าวกับผู้ไปนมัสการว่า "พวกเองไม่ต้องมาหาข้าถึงที่นี่ด๊อก มันไกล พ่อพานมึงเก่งยิ่งกว่ากูอีก” หรือแม้กระทั่ง “หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก” ยังต้องยอมท่าน และยังให้ลูกศิษย์ของตนเองไปเอาของดีจากท่าน

หลวงพ่อพานเกิดในสกุล "พุ่มอำภา" เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2454 เป็นชาวบ้านกล้วย ต.บางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี อุปสมบท ณ วัดหนองไม้เหลือง เมื่อปี พ.ศ.2475 ต่อมาย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดโป่งกะสัง และเป็นเจ้าอาวาสวัดโป่งกะสัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เมื่อครั้งยังเป็นสำนักสงฆ์ โดยท่านได้ทุ่มเทพัฒนาวัดโป่งกะสังจนเจริญรุ่งเรืองมาถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อพานเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติดี จึงเป็นที่รักของพระเถระผู้ใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เมื่อมีเวลาว่างหลวงพ่อพานจะมาพักที่วัดยาง ถึงแม้ต่อมาหลวงพ่ออินทร์จะได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระเทพวงศาจารย์”และเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี แต่ความสนิทสนมของหลวงพ่ออินทร์กับหลวงพ่อพาน ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์มากั้น มีแต่ศิษย์พี่ศิษย์น้อง ด้วยหลวงพ่อพานเรียกหลวงพ่ออินทร์ว่า "คุณพี่อินทร์" และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้หลวงพ่อพานด้วย

นอกจากนี้ ท่านยังไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อทองศุข เกจิดังแห่งวัดโตนดหลวง ศึกษาพุทธาคมแขนงต่างๆจนครบทั้งแคล้วคลาด เมตตามหานิยม คงกระพัน วิชาทำผงพุทธคุณ และวิชาทำตะกรุดต่างๆ

ระหว่างปีพ.ศ.2512-2513 ก่อนมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโป่งกะสัง หลวงพ่อพานกับหลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง จ.เพชรบุรี ชวนกันออกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวก ท่านทั้ง 2 รูปเดินธุดงค์ขึ้นทางแก่งกระจานไปออกปราณบุรี เขาสามร้อยยอด กุยบุรี โดยได้ไปถึงน้ำตกมะไฟ บ้านย่านซื่อ และเดินธุดงค์ลงมาที่บ้านโป่งกะสัง ซึ่งสมัยนั้นเป็นพื้นที่สีแดง มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ในขณะนั้นยังไม่ได้สร้างวัด แต่มีคนเพชรบุรีอพยพมาทำไร่ในแถบนี้เป็นจำนวนมาก หลวงพ่อพานเห็นเป็นสถานที่ที่เหมาะในการปฏิบัติธรรม จึงตัดสินใจพำนักในพื้นที่บ้านโป่งกะสังตามลำพังแค่รูปเดียว ด้วยในสมัยนั้นคอมมิวนิสต์ชุกชุมมาก จึงไม่มีพระองค์ใดกล้าอยู่

ท่านเป็นพระที่เก็บตัว วัดของท่านแทบจะเรียกว่าอยู่ในป่าก็ว่าได้ ทำให้ท่านไม่เป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นมากนัก แต่ในท้องที่กุยบุรีแล้วท่านเป็นอันดับหนึ่งเรื่องคงกระพันชาตรี สุดยอดมหาอุดตลอดกาลเมืองประจวบคีรีขันธ์

วัตถุมงคลยอดนิยมของท่านคือ พระเนื้อผงรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ.2494 เมื่อสมัยจำพรรษา ณ วัดหนองไม้เหลือง ตามประวัติที่ท่านเล่าให้ นายอรรตภูมิ สร้อยทอง ซึ่งป็นเด็กวัดและบีบนวดท่านเป็นประจำฟังว่า พระผงรุ่น 1 นี้ พอท่านได้เรียนวิชากับหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวงแล้ว ท่านได้นำผงพุทธคุณไปให้อาจารย์ปลุกเสก แต่หลวงพ่อทองศุขกลับบอกว่า “ไหนๆ ก็เรียนวิชาจบหมดแล้วก็มาปลุกเสกด้วยกันสิ” ท่านจึงได้ปลุกเสกร่วมกับหลวงพ่อทองศุข

ส่วนรุ่นที่ 2 เป็นพระสมเด็จเนื้อผงอีกเช่นกัน จัดสร้างเมื่อ พ.ศ.2511 โดยได้นำผงพุทธคุณรุ่นแรกมาผสมด้วย สังเกตให้ดีมวลสารคล้ายกันมาก โดยรุ่นนี้ได้ปลุกเสกร่วมกับศิษย์ผู้พี่ หลวงพ่อเพลิน ที่วัดหนองไม้เหลือง ต่อมา พ.ศ.2523 ท่านย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโป่งกะสัง และนำสมเด็จรุ่นนี้มาแจกชาวอ.กุยบุรี จึงจัดรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกของวัดโป่งกะสัง

เหรียญรุ่นแรกสร้างเมื่อ พ.ศ.2519 จำนวนไม่เกิน 10,000 เหรียญ เพราะบล็อกแตกเสียก่อน เหรียญรุ่น 2ฉลองสมณศักดิ์ ปี2526 สร้างจำนวน 5,000 เหรียญ มีเนื้อเดียวเช่นกันส่วนรุ่น 3 สร้าง 3 เนื้อ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ 82 เหรียญเนื้อเงิน 82 เหรียญ เนื้อทองแดงรมดำ 6,000 เหรียญรุ่น 4 เป็นเหรียญหล่อทองคำ 84 เหรียญ เงิน 500 นวะและทองเหลืองรวม 5,000 เหรียญ โดยเหรียญหล่อนี้ท่านได้นำตะกรุด แผ่นทองแดงที่จารแล้วจำนวนมากและเงินพดด้วง สตางค์รูมาเทหล่อเป็นปฐมฤกษ์ด้วยตัวเองที่โรงหล่อย่านพรานนก

ทั้งนี้ หลวงพ่อพานเป็นพระที่ปลุกเสกวัตถุมงคลของท่านตลอดไม่มีวาระ ถ้าท่านไม่มีกิจนิมนต์หรือไม่ได้จำวัดที่วัด พลบค่ำท่านจะเข้าห้องพระปลุกเสกตลอด

ตะกรุดของท่านจะลงจารเองทุกดอก และจะลงในพรรษาเท่านั้นและทำแค่ประมาณ108 ดอกแม้ดอกเล็กๆก็มีประสบการณ์มาก ขนาดที่มีผู้ถูกยิงเท่าไรก็ไม่ออก ขนาดโดนจับยิงกรอกปาก ปรากฏว่า กระสุนเข้าปาก ฟันหักแต่กระสุนไปกลิ้งอยู่ในปาก สำหรับตะกรุดโทน มีตำรวจเมืองเพชรฯเอาไปใส่ในกระป๋องนมแล้วล้อมยิงสิบกว่ากระบอก ยิงไม่ถูกเลย

ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อพานที่เล่าขานไม่รู้จบ ในสมัยก่อน วัดโป่งกะสัง มีหลวงพ่อพานอยู่องค์เดียวคอมมิวนิสต์ชุกชุมมากจริงๆ จึงไม่มีพระองค์ใดกล้าอยู่ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดบอกว่า ถ้าได้ยินเสียงปืนมาจากทางวัดรู้ได้ทันทีว่าหลวงพ่อพานโดนยิงอีกแล้ว เพราะว่า ตชด.จะต้องสับเปลี่ยนกำลังพลเป็นประจำ จึงไม่รู้ว่ามีพระเดินจงกลมอยู่"

ในสมัยก่อนมีงานที่วัดจะมีการทำโคมไฟ ส่วนพระก็ทำตะไล ส่วนหลวงพ่อพานได้ทำโคมไฟซึ่งเป็นโคมไฟแขวน เสร็จแล้วท่านก็ให้ชาวบ้านที่ทำตะไล เอาตะไลที่ทำมายิงโคมไฟแขวนของท่าน ใครยิงโคมไฟถูกมารับรางวัลจากท่าน ผลปรากฏว่าชาวบ้านที่ทำตะไลมา เอาตะไลที่ทำมายิงโคมไฟ ยิงเท่าไรก็ยิงไม่ถูก ยิงจนหมดปัญญายิง

หลวงพ่อพานมรณภาพเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2539 สิริอายุ 84 ปี ปรากฏว่าสรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรจุไว้ในโลงไม้เพื่อให้ลูกศิษย์ได้สักการะตราบจนทุกวันนี้

#ฉัตรสยาม


ดู 225 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page