top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

"หลวงปู่หนูอินทร์ กิตฺติสาโร"วัดป่าพุทธมงคล เกจิรูปสุดท้ายที่ร่วมเสกวัตถุมงคลพิธีใหญ่ พระเครื่อง25ศตวรรษ/สมเด็จ100ปีวัดระฆัง

"หลวงปู่หนูอินทร์ กิตฺติสาโร"วัดป่าพุทธมงคล

เกจิรูปสุดท้ายที่ร่วมเสกวัตถุมงคลพิธีใหญ่

พระเครื่อง25ศตวรรษ/สมเด็จ100ปีวัดระฆัง


ทีมข่าว"คัมภีร์นิวส์"ร่วมเผยแพร่ประวัติเกียรติคุณพระราชศีลโสภิต หรือ"หลวงปู่หนูอินทร์ กิตติสาโร" สิริอายุ ๘๗ ปี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธมงคล ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พระเกจิที่ร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ปี๒๕๐๐ และพิธีพระสมเด็จ๑๐๐ปี วัดระฆังโฆสิตาราม ปี๒๕๑๕ รูปสุดท้ายในกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังคงดำรงธาตุขันธ์อยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นเกจิหนุ่มเพียงรูปเดียว ๑ใน๑๐๘รูปทั่วทุกภาคที่ได้ร่วมพิธีประวัติศาสตร์ครั้งนั้น


ท่านมีนามเดิมว่า "หนูอินทร์" นามสกุล "ธนคําดี" เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ณ บ้านเลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๑ บ้านหลุบ ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ บิดาชื่อ "นายเกื้อ" มารดาชื่อ "นางผอง" มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา ๗ คน


เมื่ออายุ21ปีเข้าพิธีอุปสมบท ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ วัดโพธิ์ชัย ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยมี พระครูสุขุมวาทวรคุณ (หลวงปู่สุข สุขโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาประพันธ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหากรม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "กิตติสาโร"

ภายหลังอุปสมบทท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก


ผลงานด้านการศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูปริยัติธรรม สํานักเรียนวัดป่าพุทธมงคล ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นกรรมการอํานวยการสอบธรรมสนามหลวง ที่วัดกลาง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์


ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าพุทธมงคล ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะ อําเภอเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเจ้าคณะอําเภอเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระบัญชาแต่ง ๑ ตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์


ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราชทานเป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอําเภอชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูกิตติธรรมสาร พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูเจ้าคณะอําเภอชันเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ "พระสุขุมวาทเวที"

เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ "พระราชศีลโสภิต"


"หลวงปู่หนูอินทร์"หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกท่านจนติดปากว่า "พระอาจารย์หนูอินทร์" เป็นพระเถระผู้มีความรู้ด้านวิทยาคม เคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน และแตกฉานในพระธรรมวินัย ด้วยกิตติศัพท์แห่งพุทธาคมทำให้ท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพระสงฆ์ที่รักความยุติธรรม ยกย่องคุณงามความดีของบุคคล และฟื้นฟูสภาพจากสำนักวิปัสสนาที่ไม่มีอะไรเลยจนกลายเป็นวัดที่โดดเด่น คือ "วัดป่าพุทธมงคล"


หลวงปู่หนูอินทร์เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังรูปหนึ่งในบรรดาคณะเกจิอาจารย์สายอีสาน ได้รับกิจนิมนต์ให้เป็น ประธานจุดหรือดับเทียนชัยและนั่งปรก อธิษฐานจิตในพิธีพุทธาภิเษกมากมายหลายแห่งในปีหนึ่งๆ ทั้งนี้ ท่านเป็นพระเกจิที่ได้รับ

อาราธนาเข้าร่วมปลุกเสกพระเครื่องพิธิใหญ่ตั้งแต่สมัยเป็นพระหนุ่ม นั่นคือพิธีปลุกเสกพระเครื่อง25ศตวรรษ และพิธีปลุกเสกพระสมเด็จ100ปีวัดระฆัง ปี2515 ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว


วัตถุมงคลรุ่นต่างๆ ของ หลวงปู่หนูอินทร์ กิตติสาโร ล้วนเป็นที่ศรัทธาของมหาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสมเด็จเนื้อผงรุ่นแรก,ปี2511,,พระบูชาพุทธคยามหามงคล พระกริ่ง พระยอดธง,พระผงรูปเหมือนเหรียญรุ่นแรก(นับประคำ)ที่ระลึกในโอกาส งานยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญวัดพุทธคยา อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ปี2518,รูปเหมือน, ตะกรุดโทน ตะกรุดคลอดลูกง่าย ผ้ายันต์มงคลรัตน์ สีผึ้งมหานิยม,ตะกรุด ๙ ดอก เป็นที่เลื่องลือว่ามีพุทธคุณสูง ด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพัน ฯลฯ


สมัยนั้นหลายคนไม่ค่อยเลื่อมใส เนื่องจากท่านแลดูเป็นพระหนุ่มมากเกินไป บางคนได้รับพระสมเด็จรุ่นแรกไปใช้แต่ไม่เชื่อถือ ได้ทดลองยิง แต่ปรากฏว่า ยิงไม่ออก ปืนทั้งบวมยิงไม่ออก ทั้ง ๆ ที่ปืนนั้นเพิ่งซื้อมาใหม่ จึงได้นำพระองค์นั้นไปห้อยคอทันที ต่อมาชายคนนั้น ถูกลอบยิงที่กลางตลาดถึง 3 นัด ปรากฏว่ายิงไม่ออก และตำรวจที่แขวนพระเครื่องของท่านเกิดประสบอุบัติเหตุเหยียบกับระเบิด เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งแต่ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด


สำหรับวัดป่าพุทธมงคล เดิมชื่อ"วัดพุทธคยา" ตั้งอยู่ที่ ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ บริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่ดินที่ชาวบ้านได้สงวนไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ใช้เป็นป่าช้าร่วมกัน เรียกว่า"ป่าช้าดอนบาก"มีเนื้อที่ประมาณ ๓๖ ไร่เศษ ต่อมาเจ้าคุณพิมลธรรม (อาสภเถระ) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ขณะดํารงตําแหน่งสังฆมนตรีองค์การปกครองสงฆ์เดินทางมาที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้ปรารภกับพระราชพรหมจริยคุณ เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์สมัยนั้น ว่าประสงค์จะให้มีสํานักวิปัสสนากรรมฐานสักแห่งหนึ่งในจ.กาฬสินธุ์


ปรากฏว่ามีผู้เสนอบริเวณป่าช้าดอนบาก ด้วยเห็นว่าไม่ไกลจากตัวเมือง การคมนาคมสะดวกและอยู่ห่างไกลจากชุมชน ทั้งยังเป็นบริเวณป่า มีความวิเวก ร่มรื่นด้วยแมกไม้ธรรมชาติ เหมาะแก่การทําวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ติดต่อสอบถาม และขอความร่วมมือจากราษฎรในหมู่บ้านดังกล่าวแล้วเห็นชอบด้วย จึงได้จัดตั้งเป็นสํานักวิปัสสนาขึ้นเรียกว่า "วัดพุทธคยา" เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗


ครั้นเมื่อตั้งเป็นสํานักปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสดูแลสํานักสงฆ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ กระทั่งเมื่อพระอาจารย์หนูอินทร์ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาวัดอย่างจริงจัง และรับตําแหน่งเจ้าอาวาส หลังจากที่ท่านได้ศึกษาสําเร็จนักธรรมชั้นเอก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ภายใต้การพัฒนาของท่านทำให้วัดป่าพุทธมงคลได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่นในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ และยังเป็น ศูนย์อบรมกรรมฐานอําเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมกันนี้ ท่านยังได้จัดทําพิพิธภัณฑ์ของดีอีสาน อนุรักษ์ศิลปะของเก่าแก่ตามประเพณี


ดู 428 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Σχόλια


bottom of page