top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนอ.อนุชา ทรงศิริ

เตรียมชมคลิปบุกวัดเขาถ้ำบุญนาค ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์









กราบอมตะสรีระสังขารสุดยอดพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต

“เด่น กีรติ”นำทีมสัมผัส

วันพรุ่งนี้ วันที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 06.30 น.พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

ออกอากาศทางเพจหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์


"หลวงปู่สี ฉันทสิริ”วัดเขาถ้ำบุญนาค

พระอริยเถราจารย์ 7 แผ่นดิน-128ปี

ศิษย์พุทธาคมสายตรง"สมเด็จโต"


"หลวงปู่สี ฉันทสิริ” วัดเขาถ้ำบุญนาค ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิสายวิปัสสนาชื่อดังของเมืองปากน้ำโพที่มีอายุยืนยาวถึง 128 ปี เป็น “พระอริยเถราจารย์ 7 แผ่นดิน” ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 9 พระเกจิผู้ทรงวิทยาอาคมแก่กล้า มีอภิญญาสูงส่ง


พื้นเพเป็นชาวอำเภอรัตนบุรี จ.สุรินทร์ มีนามเดิม "สี" เมื่อมีการใช้นามสกุล ใช้นามสกุลว่า "ดำริ" เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ.2392 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3


ชีวิตในวัยเด็กติดตามบิดาออกล่าสัตว์มาเป็นอาหารและเก็บของป่าไปขาย เมื่ออายุ 11 ขวบ บิดานำไปฝากกับพระอาจารย์อินทร์ พระธุดงค์ซึ่งเคยเป็นสหายเก่า จึงตามพระอาจารย์อินทร์ตระเวนธุดงค์จาก จ.สุรินทร์จนมาถึงกรุงเทพฯ ในปีพ.ศ.2403 จากนั้นได้พามากราบนมัสการพระสหธรรมิก คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี ได้รับการสั่งสอนพระธรรมวินัยและถ่ายทอดวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอักขระขอม ไทย และวิทยาคม รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิ


ปีพ.ศ.2407 มีการบวชพระและเณรจำนวน 108 รูป เพื่อสมโภชสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ขณะนั้นอายุ 15 ปี ได้บรรพชาด้วย โดยสมเด็จโตเป็นพระอุปัชาย์ และอยู่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับสมเด็จโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำผงวิเศษทั้งห้าอันศักดิ์สิทธิ์


กระทั่งปีพ.ศ.2411 กลับจากธุดงค์แวะเยี่ยมสมเด็จโต จึงขออนุญาตตามพระอาจารย์อินทร์กลับไปเยี่ยมบิดา-มารดา เมื่อกลับไปเห็นสภาพครอบครัวซึ่งมีความยากลำบาก จึงขออนุญาตพระอาจารย์อินทร์ สึกออกมาช่วยเหลือครอบ ครัว โดยใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอย่างโชกโชน นอกจากช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนาแล้ว ยังมีอาชีพรับจ้างคุมฝูงวัวไปขายข้ามจังหวัด


อายุ 29 ปี เข้ารับราชการเป็นทหารเรืออยู่หลายปี แล้วออกมาประกอบอาชีพค้าวัวค้าควายอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งอายุ 39 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงตัดสินใจอุปสมบทที่วัดบ้านเส้า ซึ่งอยู่ใน อ.บ้านหมี่ ปัจจุบัน มีพระครูธรรมขันธ์สุนทร (หลวงปู่เอี่ยม) วัดโพนทอง เป็นพระอุปัชฌาย์


จำพรรษาได้ระยะหนึ่งจึงออกธุดงค์มาที่ถ้ำเขาไม้เสียบ ต.ช่องแค จ.นครสวรรค์ ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นมาท่านก็ถือปฏิบัติในการออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย จากเหนือถึงใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก รวมทั้งประเทศลาว ประเทศพม่า เลยไปประเทศอินเดีย เกือบตลอดระยะเวลาที่ท่านบวช ได้ไปสักการะสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนามากมาย


พบพานพระเกจิชื่อดังหลายต่อหลายองค์ พระสหธรรมิกที่มีความสนิทสนม สนทนาข้อธรรมและแลกเปลี่ยนสรรพวิชาซึ่งกันและกัน อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ และหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ฯลฯ


นอกจากนี้ ยังเป็นพระอาจารย์ของ พระเถระชื่อดังหลายรูป เช่น หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่, หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรีเจริญ จ.สิงห์บุรี และหลวงปู่เย็น วัดสระเปรียญ จ.ชัยนาท เป็นต้น


ต่อมาอายุประมาณ 90 ปี สร้างวัดหนองลมพุก อ.โนนสังข์ จ.อุดรธานี และอยู่จำพรรษามาโดยตลอด จนถึงปีพ.ศ.2512 พระครูนิวิฐปริยัติคุณ (พระอาจารย์สมบูรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค ไปนิมนต์ลงมาช่วยสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาค ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆจนเจริญรุ่งเรืองสืบมา


หลวงปู่สีเป็นพระสมถะ ไม่ยึดติดความสะดวกสบาย จึงคงอยู่ที่กุฏิไม้เก่าๆหลังเล็กๆ ไม่ยอมย้ายไปกุฏิหลังใหม่ที่อดีตเจ้าอาวาสตั้งใจสร้างให้ จนกระทั่งมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2520 สิริอายุ 128 ปี 89 พรรษา ศิษยานุ ศิษย์ได้อัญเชิญสรีระซึ่งไม่เน่าเปื่อยบรรจุในโลงแก้ว แล้วประดิษฐานไว้ที่กุฏิหลังใหม่เพื่อให้สาธุชนได้ไปกราบไหว้บูชา


สิ่งอัศจรรย์ยิ่งอีกประการคือ เล็บมือ เล็บเท้า และผมของท่านนั้น ยังงอกยาวออกมาเช่นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทางวัดจะต้องเปิดโลงแก้วทุกๆ 15 วัน เพื่อปลงผมและตัดเล็บให้ท่านตลอดมา และในทุกปีเมื่อครบวันมรณภาพก็จะมาร่วมกันทำพิธีสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าสบงจีวรให้


เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลทุกรุ่นของหลวงปู่สี ซึ่งมีไม่มากนักนั้น ล้วนสร้างด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะสมทบทุนในการก่อสร้างบูรณะอุโบสถและเสนาสนะภายในวัดทั้งสิ้น ประการสำคัญคือ ท่านจะประกอบพิธีปลุกเสกเดี่ยวเท่านั้น ด้วยพลังจิตอันแก่กล้าจึงมั่นใจได้ถึงความเข้มขลังและทรงพุทธคุณเป็นเลิศรอบด้าน เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง


โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือน รุ่น อายุยืน (เต็มองค์) ปี 17” อันถือเป็นเหรียญยุคใหม่ที่สร้างประสบการณ์มากมาย จนติดอันดับเหรียญยอดนิยมของเมืองปากน้ำโพ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “ชานหมาก” ที่ท่านเคี้ยวแล้วนำมาใช้จีวรห่อให้ญาติโยมนั้น ถือเป็นสิริมงคลและปกป้องภยันตรายนานัปการแก่ผู้บูชา ปัจจุบันจะหาของแท้ยากยิ่งนัก เพราะผู้มีไว้ต่างหวงแหน ของทำเทียมก็ออกกันมามากมาย

ดู 45 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page